กินยาลดความอ้วนโดยไม่รู้ชื่อยา กลัวแต่ก็กิน
สำหรับคนอ้วนที่ได้รับการสั่งยาจากแพทย์โดยไม่ระบุว่าเป็นยาอะไรนั้น ถือว่าแพทย์ผู้นั้นทำผิดกฎหมาย ผิดพระราชบัญญัติสถานพยาบาล ผิดพระราชบัญญัติประกอบวิชาชีพเวชกรรม แต่ยังมีสิ่งที่สำคัญกว่ายาลดความอ้วนสำหรับผู้ที่ต้องการลดความอ้วนในระยะยาวซึ่งควรศึกษาไว้ดังนี้
ประเด็นที่หนึ่ง หลักฐานในปัจจุบันนี้ “ไม่มี” ยาใดรักษาความอ้วนได้ยั่งยืนจริงจัง มียาเพียงตัวเดียวที่องค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกายอมให้ใช้ในวัยรุ่นได้มีคือ Olistat (Xenical) ซึ่งออกฤทธิ์ระงับการดูดซึมไขมันจากลำไส้ ข้อด้อยคือทำให้การดูดซึมวิตามินที่ละลายในไขมันเสียไป และอาจทำให้มีไขมันเล็ดออกทางทวารหนักได้ บางคนจึงไม่นิยม
ยาลดความอ้วนตัวอื่นๆ ล้วนเป็นยาเบื่ออาหาร กินแล้วทำให้ไม่อยากกินอาหาร ซึ่งได้รับอนุมัติให้ใช้รักษาโรคอ้วนได้เฉพาะระยะสั้นเท่านั้น แต่ปัญหาลดน้ำหนักเป็นปัญหาระยะยาว ยาเบื่ออาหารนี้จึงต้องใช้ร่วมกับมาตรการควบคุมอาหาร ได้แก่ ยา Sibutramine (Reductil) ออกฤทธิ์บล็อกการจับทำลายสารเคมีปลายประสาท และยากลุ่มกระตุ้นระบบประสาทซิมพาเทติก อย่างยา Phentermine (Panbesy) ยา Phendimetrazine (Bontril) และยา Benzphetamine (Didrex) เป็นต้น ยานอกเหนือจากนี้ล้วนเป็นยาเถื่อนทั้งสิ้น ไม่ควรใช้อย่างเด็ดขาด ได้แก่
1. Amphetamine และ methamphetamine หรือรู้จักกันดีในชื่อของยาบ้า
2. Thyroid หรือ thyroid extract เป็นยาที่ทำให้เป็นโรคไฮเปอร์ไทรอยด์ซึ่งเป็นโรคผอมแบบผิดปกติ
3. Phenmetrazine ถูกห้ามใช้เพราะมีผลต่อการทำงานของลิ้นหัวใจจนตายได้
4. Dinitrophenol ถูกห้ามใช้เพราะทำให้เกิดต้อกระจกและประสาทเสื่อม
5. Rainbow pill ถูกห้ามใช้เพราะทำให้คนตายจากหัวใจเต้นผิดจังหวะ
6. Aminorex ถูกห้ามใช้เพราะทำให้เกิดความดันในปอดสูง
7. Fluoxetine เป็นยาแก้ซึมเศร้า ไม่ได้รับการรับรองให้ใช้รักษาความอ้วน
8. Mazindol ถูกห้ามใช้เพราะทำให้เกิดอาการประสาทเช่นชัก
9. Phenylpropanolamine ถูกห้ามใช้เพราะอาจทำให้เกิดอัมพาต
10. Methylphenidate ไม่ได้รับการอนุมัติให้ใช้รักษาโรคอ้วน
11. Ephedrine ไม่ได้รับอนุมัติให้ใช้รักษาโรคอ้วน เพราะกระตุ้นหัวใจให้ทำงานหนัก
12. Topiramate ยากันชัก ไม่ได้รับอนุมัติให้ใช้รักษาโรคอ้วน
13. Rimonabant ไม่ได้รับอนุมัติให้ใช้เพราะข้อมูลความปลอดภัยยังไม่พอ
ประเด็นที่สอง ไม่ใช้ยาแต่เลือกวิธีลดความอ้วนในรูปแบบอื่น ได้แก่
1. การโภชนาการเพื่อลดแคลอรี่
2. การออกกำลังกายเพื่อเผาผลาญแคลอรี่
3. การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่ทำให้อ้วน
4. การจัดการด้านจิตวิทยาการสร้างความบันดาลใจและเอาจริงเอาจัง
สุดท้ายแล้วต้องทำความเข้าใจว่าโรคอ้วนเป็นปัญหาเฉพาะบุคคล วิธีที่ดีที่สุดคือต้องไปพบแพทย์ด้านโภชนาการหรือแพทย์ด้านต่อมไร้ท่อที่ชำนาญการรักษาโรคอ้วนโดยเฉพาะ และเป็นแพทย์ที่เปิดเผยชื่อยาและขั้นตอนการรักษาอย่างชัดเจน เพื่อวินิจฉัยว่าอะไรคือสาเหตุของโรคอ้วน อาหารที่กินแต่ละวันมีอะไรบ้าง ระดับกิจกรรมที่ทำเป็นแบบไหน มีภาวะซึมเศร้าหรือเปล่า มีสาเหตุด้านฮอร์โมนหรือไม่ จำนวนคนอ้วนในครอบครัวมีกี่คนเพราะโรคอ้วนเป็นกรรมพันธุ์ และที่สำคัญ อย่าลืมถามตัวเองว่า ระดับความตั้งใจที่จะลดความอ้วนมีมากแค่ไหน